Waste Life
กระเป๋าผ้าจากการรีไซเคิลขวดน้ำพลาสติกดีกรีรางวัล DEmark Award เรื่องและภาพ ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุขเรื่องและภาพ ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ผมเห็นและรับรู้ข่าวสะเทือนใจมากๆ ในบ้านเราก็คือ เต่าตนุตายเพราะกินพลาสติกในทะเลมากเกินไป ยังไม่ทันจะหายเศร้าดีก็มีข่าวแบบเดิมเข้ามาอีก
คราวนี้เปลี่ยนมาเป็นวาฬครีบสั้นเกยตื้นที่สงขลา จากการผ่าพิสูจน์พบขยะพลาสติกกว่า 80 ชิ้นอยู่ในท้องของมัน
ยังไม่พอ เรายังได้เห็นภาพข่าวของสหรัฐอเมริกาที่แม่นกคาบเอาขยะพลาสติกชิ้นเล็กชิ้นน้อยไปป้อนลูกน้อยในรังอีก
ทั้งหมดนี้คือส่วนเล็กๆ ส่วนเดียวของปัญหาขยะพลาสติกในทะเลที่ตอนนี้น่าจะเป็นปัญหาใหญ่ที่คนพูดถึงมากที่สุดในโลก
ขยะพลาสติกในปัจจุบันว่าเยอะแล้ว แต่ก็มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นไปอีกเรื่อยๆ ในอนาคต ขยะพลาสติกกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ถ้าไม่ถูกปล่อยทิ้งลงทะเลโดยตรงก็ถูกฝังกลบไว้ใต้ดิน (ซึ่งไม่ย่อยสลาย และในที่สุดก็จะหลุดลอยไปยังทะเลอยู่ดี) มีขยะพลาสติกเพียงแค่ 9 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นที่ถูกนำกลับมารีไซเคิลใช้ใหม่
ยิ่งไปกว่านั้นงานวิจัยของมูลนิธิเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อมเอลเลน แมคอาร์เธอร์ คาดว่า ภายใน พ.ศ. 2563 หรืออีก 34 ปี ขยะพลาสติกในมหาสมุทรจะมีมากกว่าจำนวนปลาซะอีก (!!) ในบรรดาขยะพลาสติกที่ลอยเคว้งคว้างอยู่อย่างไร้จุดหมายกลางทะเลนั้น มีอยู่สิ่งหนึ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรามากๆ และเยอะเป็นอันดับต้นๆ ของบรรดาขยะทั้งหมดนั่นก็คือ ‘ขวดน้ำดื่มพลาสติกแบบใส’ นั่นเอง
ขวดน้ำดื่มเหล่านี้นำกลับมารีไซเคิลได้ แต่อาจเพราะความยุ่งยากของการแยกขยะหรืออะไรก็ตามที จึงทำให้ขวดน้ำดื่มพลาสติกเหล่านี้ต้องลอยต่อไปอีกหลายร้อยปีกว่าจะย่อยสลาย
ขวดน้้ำ, พลาสติก ในงานประกาศรางวัล DEmark Award หรือ Design Excellence Award ของทางกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศในปีล่าสุด ผมสะดุดตากับผลงานกระเป๋าใบหนึ่งด้วยความสวยงามแปลกตาของการออกแบบและวัสดุที่ใช้ตัดเย็บ เมื่อเข้าไปดูรายละเอียดใกล้ๆ ก็เจอกับข้อความว่า ‘ดื่มน้ำ 5 นาที ขวดที่ใส่น้ำอยู่ก็จะเป็นขยะไปอีกกว่า 400 ปี’
นี่คือกระเป๋าที่ทำจากวัสดุรีไซเคิลอย่างขวดน้ำดื่มพลาสติกแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ จากแบรนด์กระเป๋า ‘ARTWORK’ ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 3 รุ่น คือ กระเป๋าถือ (Hand Bag) กระเป๋าสะพายข้าง(TOTE BAG) และ เป้สะพายหลัง (Backpack)
เวลาพูดถึงกระเป๋าจากวัสดุรีไซเคิลเรามักนึกถึงกระเป๋าที่ดูเชยๆหน่อย ก็ไม่รู้ว่าใครกำหนดรูปแบบนั้นไว้ แต่ทั้งหมดนั้นไม่ใช่เลยกับกระเป๋าที่ได้รับรางวัลการันตีด้านการออกแบบอย่าง DEmark ของไทย และวัสดุที่เลือกใช้ก็ช่วยลดปริมาณขยะอีกด้วย เก๋ไหมล่ะ แค่ช้อปก็มีส่วนช่วยโลก ช่วยวาฬ เต่า และสัตว์น้ำทั้งหลายแล้วนะ (แต่จริงๆ ลดการใช้พลาสติกจะดีกว่ามากๆ)
รักน้ำ รักปลา รักโลก
แบรนด์กระเป๋า ARTWORK ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2555 โดย ป้อม-สิริวรรณ ชิวารักษ์ ซึ่งมีอาชีพหลักเป็น Art Director ของบริษัทโฆษณา
ด้วยอาชีพการงานที่ได้คลุกคลีและทำงานในโปรเจกต์ CSR (ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร) ต่างๆ ของลูกค้า ทำให้เธอรู้สึกถึงปัญหาโลกร้อนว่าเป็นเรื่องที่สำคัญและใกล้ตัวมากๆ ผสมกับความสนใจส่วนตัวที่อยากลองทำสินค้าแฟชั่นอะไรสักอย่างขึ้นมาเป็นงานอดิเรก เลยมองไปที่กระเป๋าเป็นอย่างแรกเพราะเป็นสินค้าที่ใครก็ใช้ได้ ไม่มีปัญหาเรื่องของขนาดสัดส่วนมาเกี่ยวข้องด้วยสักเท่าไหร่ จึงเกิดเป็นไอเดียกระเป๋าที่ใช้วัสดุซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
“เรากลายเป็นคนที่แยกขยะก่อนทิ้ง เพราะเราเชื่อว่าการแยกขยะเป็นเรื่องสำคัญ เคยไปค้นคว้าและไปคุยกับโรงงานที่ทำเรื่องรีไซเคิลพลาสติกมาแล้วด้วย
“สิ่งที่คนไม่ค่อยรู้ก็คือ ขยะพลาสติกหลายอย่างที่ดูไม่น่าจะรีไซเคิลได้อย่างถุงที่ห่อผักผลไม้ ถ้าล้างทำความสะอาดและแกะเอาสติกเกอร์ออก ก็เอามารีไซเคิลใช้ใหม่ได้อีกครั้ง เราเคยเห็นการแยกขยะที่ญี่ปุ่นซึ่งมหัศจรรย์มาก คนที่นั่นล้างทุกสิ่งจนสะอาดก่อนจะตากให้แห้งแล้วก็ไปหย่อนในส่วนแยกขยะที่มีมากกว่า 20 ประเภท ถ้าทำแบบนี้ขยะจะถูกรีไซเคิลได้ง่ายจริงๆ
หรืออย่างที่ยุโรป ถ้าเราเอาขวดที่ซื้อมาไปคืนที่หน้าซูเปอร์มาร์เก็ตก็จะได้เงินคืนกลับมา เป็นการสร้างแรงจูงใจให้แยกขยะแบบหนึ่ง”
“เราสนใจวัสดุที่มาจากการนำขยะมารีไซเคิล เพราะถ้าขยะอยู่ผิดที่ก็จะไม่ถูกนำไปใช้งานอีกเลย เราเลยอยากทำอะไรสักอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะวงการแฟชันนี่เป็นตัวทำโลกร้อนอันดับสองเลยนะ
“เราอยากใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแทนที่จะเป็นวัสดุทั่วๆ ไป ส่วนหนึ่งคือเป็นเรื่องของการใช้สินค้าแฟชั่นเพื่อบอกเล่าปัญหานี้ด้วย ตอนแรกเราไปเจอกระดาษคราฟต์ที่ซักได้ (วัสดุผสมระหว่างกระดาษและพลาสติกมักใช้ทำป้ายกางเกงยีนส์) เลยเอามาทำเป็นกระเป๋าถือดู” ป้อมเล่าถึงที่มาของการเริ่มทำแบรนด์ในทีแรก
จากการลองทำงานชิ้นแรกก็พาให้ตัวกระเป๋ากระดาษคราฟต์และแบรนด์ ARTWORK นั้นได้รางวัล G Mark จากประเทศญี่ปุ่นและ DEmark ของไทยด้วยในปี 2013 เลย
คบคนให้ดูหน้า ซื้อผ้าให้ดูขวด
แต่หลังจากปีที่ได้รางวัล ด้วยภาระงานประจำที่มากขึ้นผสมกับธุรกิจสินค้าแฟชั่นที่มีรูปแบบเฉพาะตัว ทำให้ป้อมพัฒนาแบรนด์กระเป๋าไปต่อได้ไม่ค่อยเต็มที่ เลยได้ไปเจอที่ปรึกษาด้านแฟชัน แบรนดิ้งและการตลาดซึ่งได้รับการยอมรับจากนานาชาติอย่าง อาจารย์เชอรี่-จิตรา มั่งมา ให้มาช่วยเป็นที่ปรึกษาของแบรนด์ ARTWORK
หลังจากทำเวิร์กช็อป ช่วยกันพัฒนา คิด และปรับปรุง รูปแบบของกระเป๋าอยู่นานหลายเดือน จนได้ข้อสรุปว่าควรจะพัฒนาแบรนด์ให้เป็นตัวป้อมมากขึ้น และเพิ่มรูปแบบการใช้งานของกระเป๋าให้มากขึ้น ไม่ใช่เป็นแค่กระเป๋าเรียบๆ แบบที่เคยทำมา โดยที่ยังเน้นใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมต่อไป
การทำให้แบรนด์เป็นตัวของป้อมมากขึ้น ทำให้เธอคิดไปถึงปัญหาขยะพลาสติกที่เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดที่ควรจะต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้ปัญหา เลยนึกถึงวัสดุที่รีไซเคิลมาจากขยะพลาสติก ซึ่งแบรนด์ระดับโลกหลายๆ แบรนด์ก็เริ่มนำขยะพลาสติกมารีไซเคิลเป็นวัสดุในการผลิตสินค้าที่เริ่มเห็นกันชินตา
หลังจากหาอยู่เป็นเวลานานป้อมก็เจอวัสดุหนึ่งที่ดูคล้ายกับผ้าขนสัตว์หนาๆ แต่กลับเป็นผ้าที่ทำมาจากการนำเอาขวดน้ำดื่มพลาสติกมารีไซเคิล ซึ่งโดยปกติเป็นวัสดุหลักในการผลิตพรมปูพื้นตามงานอีเวนต์ หรือซับในของรองเท้าต่างๆ จึงเกิดความคิดที่จะพัฒนาวัสดุนี้เพื่อผลิตเป็นกระเป๋า
“เส้นใยนี้ถูกผลิตจากการนำเอาขวดน้ำดื่มมาบดจนกลายเป็นเศษพลาสติกชิ้นเล็กๆ ก่อนจะนำไปผ่านความร้อนจนหลอมเหลว ก่อนจะนำไปผ่านเครื่องฉีดออกมาเป้นเส้นใย แล้วจึงนำมาผ่านกระบวนการ Needle Punch อีกครั้งเพื่อทำให้เส้นใยติดกันเป็นผืนผ้า หน้าตาและผิวสัมผัสของวัสดุนี้จะออกมาเป็นเหมือนผ้าขนสัตว์ที่หนาและมีขุยที่ผิวแตกต่างจากเส้นใยโพลีเอสเตอร์ซึ่งแทรกอยู่ในเสื้อผ้าทั่วๆ ไป” ป้อมอธิบายกรรมวิธีกว่าจะมาเป็นของผ้าที่ใช้ พลางหยิบกระเป๋าขึ้นมาให้เราสัมผัสไปด้วย
หลังจากลูบๆ คลำๆ อยู่นานผมก็แทบไม่อยากจะเชื่ออยู่ดีว่าสิ่งนี้ทำมาจากขวดน้ำดื่มพลาสติกที่เราคุ้นเคยกันจริงๆ และไม่ใช่เพียงแค่ผมคนเดียว แต่ป้อมเล่าให้ฟังว่า แทบทุกคนที่พอรู้ว่ามันทำมาจากขวดน้ำพลาสติกก็จะเข้ามาจับและไม่ค่อยเชื่อว่าขวดน้ำพลาสติกสามารถมาทำแบบนี้ได้
ไปให้สุดก่อนหยุดแล้วกลับทางเดิม
หลังจากได้วัสดุมาแล้วก็ถึงคราวที่จะต้องนำมาตัดเย็บเป็นกระเป๋าตามที่คิดออกแบบไว้ ป้อมก็พบว่า นอกจากการแยกขยะพลาสติกเพื่อให้เกิดการนำกลับมาใช้ใหม่ที่ว่ายากแล้ว การนำวัสดุรีไซเคิลอย่างผ้าใยพลาสติกนี้มาทำเป็นกระเป๋านั้นยากยิ่งกว่า
ทีแรกป้อมอยากจะใช้การเย็บทั้งแนวผ้าเพื่อสร้างลวดลายบนผิวกระเป๋าให้เป็นเหมือนลายของผ้าลูกฟูก แต่ด้วยความที่วัสดุนี้เย็บยากมากเลยเปลี่ยนเป็นพิมพ์สีลงไปแทน โดยเลือกทำสีแบบ Heat Transfer ใช้สีผงมาผ่านความร้อนให้ละลายติดกับตัวเส้นใย เพื่อให้ไม่มีสีย้อมหรือสารพิษเหลือทิ้งลงในแหล่งน้ำจนกลายเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ทำสีเป็น 3 สีคือ ฟ้า เขียว และเทา เพื่อสื่อถึงธรรมชาติที่ถูกทำลายจากขยะพลาสติกในทะเล
“ผ้าจากขวดน้ำพลาสติกเป็นวัสดุที่ไม่ได้เกิดจากการทอขึ้นมา การนำมาตัดเย็บจึงทำได้ยากกว่าเพราะมันจะลื่นและยืดหยุ่นกว่าผ้าทั่วไป การตัดเย็บจึงยากกว่ามาก
“ตอนเย็บด้วยจักรเย็บผ้ามีแรงดึงจากตัวจักรมาด้วยทำให้ตัววัสดุยืดและย้วยไปมา เราต้องเปลี่ยนจากการเย็บสร้างลวดลายบนผิวกระเป๋ามาเป็นการย้อมสีพร้อมลวดลายลงไปแทน เพื่อลดขั้นตอน แล้วต้องหาช่างที่มีเทคนิคและฝีมือในการเย็บที่เก่งมากๆ ถึงจะขึ้นรูปกระเป๋าได้ ซึ่งทำให้ต้นทุนสูงมากขึ้นด้วยเช่นกัน”
เวลาตัดเย็บกระเป๋า ขอบของกระเป๋ามักเย็บไม่ค่อยเรียบร้อย โดยปกติแบรนด์สินค้าอื่นๆ มักจะเอาหนังแท้มาใช้เก็บขอบ รวมไปถึงทำสายผูกหรือสะพายเพื่อเพิ่มมูลค่า
แต่ป้อมกลับเลือกใช้หนังไมโครไฟเบอร์แทน เพราะทนทาน นุ่ม และใช้งานได้ดีไม่ต่างจากหนังแท้ แต่ไม่พึ่งพาอุตสาหกรรมปศุสัตว์และที่สำคัญคือไม่ต้องใช้สารเคมีแบบการย้อมและฟอกหนัง เพราะนอกจากกระบวนการเลี้ยงที่สร้างมลภาวะแล้ว ขั้นตอนการผลิตและฟอกหนังนั้นก็เต็มไปด้วยสารเคมีอันตรายจำนวนมากที่ทางโรงงานมักจะปล่อยลงสู่แหล่งน้ำต่อไป
จากการลองสะพายและลองใส่ของที่มีน้ำหนักมากดู กระเป๋า ARTWORK ก็แข็งแรงและทนทานมากๆ ไม่ต่างกับขวดน้ำพลาสติกที่ใช้เวลาหลายร้อยปีในการย่อยสลาย แต่ความเจ๋งที่สุดของกระเป๋าใบนี้อยู่ที่เมื่อเราใช้งานกระเป๋าไปนานๆ จนเก่าก็นำกระเป๋ากลับมารีไซเคิลใหม่ให้เป็นเส้นใยจากขวดน้ำพลาสติกผืนใหม่ได้เช่นเดียวกัน เรียกได้ว่าเป็นกระเป๋าที่รักโลกจริงๆ
แต่ด้วยราคาของกระเป๋าที่ค่อนข้างสูง ซึ่งก็คงจะเข้าถึงกลุ่มคนจำนวนน้อยมาก แล้วมันจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับเรื่องขยะพลาสติกได้ขนาดไหน ผมถามป้อมเมื่อรับรู้ถึงราคาของกระเป๋าใบตรงหน้า
“กระเป๋าใบนี้เป็นแค่เครื่องมือชิ้นหนึ่งในการกระตุ้นให้ผู้คนรับรู้และตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติก เพราะจำนวนผลิตของมันไม่ได้มากจนช่วยให้ขยะลดลงอยู่แล้ว เราเลยสนใจและคิดที่จะทำแคมเปญอื่นๆ เพื่อช่วยในการกำจัดขยะอย่างยั่งยืนควบคู่กันไปด้วย
“กำลังมองหาพาร์ตเนอร์หรือองค์กรที่อยากมาร่วมมือกันแก้ปัญหาเรื่องขยะนี้อยู่ อย่างเช่นการสร้างผลิตภัณฑ์ที่เราใช้กันในชีวิตประจำวันด้วยวัสดุรีไซเคิล หรือจากการที่เราไปทำการค้นคว้ามาก็พบว่าระบบการทิ้งขยะในไทยนั้นไม่ได้เอื้อให้คนทั่วๆ ไปแยกขยะได้ มันอาจจะต้องมีการออกแบบระบบหรือวิธีการบางอย่างเพื่อให้ช่วยให้การคัดแยกขยะนั้นเกิดขึ้นมาได้”
แล้วจุดหมายปลายทางที่อยากเห็นจากสิ่งที่กำลังพยายามทำคืออะไร
“อยากเห็นเราๆ แยกขยะกันให้เหมือนคนญี่ปุ่น เพื่อที่ขยะที่ยังใช้ได้จะได้ถูกนำกลับไปผลิตใช้ใหม่” คือคำตอบสั้นๆ ของป้อม
การแยกขยะพลาสติกเพื่อให้เกิดการนำกลับมาใช้ใหม่นั้นว่ายากแล้ว
แต่การที่จะเปลี่ยนให้ทุกคนทำตามนั้นถือว่ายากยิ่งกว่ายาก แต่สายตาของป้อมนั้นบอกว่ามันน่าจะเกิดขึ้นได้